ปอดเป็นอวัยวะเกี่ยวกับระบบหายใจในร่างกายที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยทำหน้าที่นำก๊าซออกซิเจนเข้าสู่ระบบเลือด และแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อม หากปอดได้รับความเสียหายหรือติดเชื้อ ก็จะส่งผลเสียต่อร่างกายได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดปอดติดเชื้อ
โดยทั่วไปเชื้อโรคจะไม่สามารถเข้าสู่ปอดได้ทันที เพราะระบบหายใจมีอยู่หลายอวัยวะ ซึ่งปอดนั้นถือว่าเป็นอวัยวะสุดท้ายในระบบหายใจ ดังนั้นก่อนที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ปอดจะต้องผ่านอวัยวะอื่นๆก่อน โดยเริ่มจากจมูก ลำคอ และผ่านอวัยวะอื่นๆไปจนถึงปอด หากเชื้อโรคผ่านเข้ามาสู่ปอด ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดปอดติดเชื้อได้ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อมีดังนี้
- ติดเชื้อโรครุนแรง เช่น วัณโรค แบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ และเชื้อรา
- ภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง หากภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ก็จะทำให้เชื้อโรคผ่านเข้าสู่ปอดได้ง่าย และผู้ที่ป่วยเป็นถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด โรคปอด โรคเหล่านี้จะทำให้สมรรถภาพของปอดลดลง จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- การสัมผัสเชื้อเป็นประจำ เชื้อโรคมีอยู่รอบตัวเรา ถึงแม้จะไม่ใช่เชื้อโรคที่มีความรุนแรง แต่หากได้รับเชื้อในปริมาณมาก หรือสัมผัสกับเชื้อเป็นประจำ ก็สามารถส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่ปอดได้
- รับประทานยาที่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยที่ทำเคมีบำบัด รับประทานยากดภูมิ เป็นต้น
นอกจากการได้รับเชื้อผ่านการสูดหายใจแล้ว ยังสามารถติดเชื้อผ่านทางส่วนอื่นๆในร่างกาย แล้วกระจายสู่ปอดผ่านทางกระแสเลือดได้
อาการ
หากไม่สังเกตอาการของตนเองให้ดี ก็จะไม่รู้ว่าปอดกำลังติดเชื้ออยู่ เนื่องจากอาการของโรคจะคล้ายกับโรคหวัดธรรมดา แต่จะมีความแตกต่างจากโรคหวัดคือ ปอดติดเชื้อจะไม่มีอาการเจ็บคอ และไม่มีน้ำมูกไหล และยังสามารถสังเกตอาการของโรคได้ดังนี้
- มีอาการไอ
- มีไข้สูง หนาวสั่น
- มีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย
- หากไอ หรือหายใจ จะรู้สึกเจ็บที่ชายโครง
ถ้าพบอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ปอดติดเชื้อมีอาการที่รุนแรง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
การรักษา
สามารถรักษาให้หายได้ โดยการรับยาฆ่าเชื้อให้ถูกต้องกับเชื้อที่อยู่ในปอด ซึ่งจะต้องรับยารักษาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากได้รับยาอย่างรวดเร็วก็จะมีโอกาสหายจากโรคสูงตามไปด้วย ถ้าได้รับยาช้าก็จะรักษาได้ไม่ทันท่วงที หากติดเชื้อจากเลือดก็จำเป็นจะต้องรับยาภายในครึ่งชั่วโมงอัตราการรอดชีวิตจึงจะสูง
การป้องกัน
- ควรใส่หน้ากากอนามัย หากจำเป็นต้องไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด
- ดูแลสุขอนามัยในชีวิตประจำวัน ล้างมือให้สะอาด
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ควรได้รับการฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะสามารถลดการเกิดปอดติดเชื้อได้
นอกจากการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงแล้ว การตรวจสุขภาพปอดเป็นประจำก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เนื่องจากจะทำให้เรารู้ถึงสภาพปอดของเราในปัจจุบันว่ามีความผิดปกติหรือไม่ หากผิดปกติก็จะได้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที