สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานอาจมีภาวะแทรกซ้อนอย่างการเป็นแผลเบาหวานได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรรู้วิธีในการป้องกันไม่ให้เกิดแผลโดยเฉพาะบริเวณเท้าด้วย
อาการของแผลเบาหวาน
ผู้ที่มีแผลเบาหวาน จะมีอาการชา หรือมีอาการไร้ความรู้สึกบริเวณปลายเท้าและปลายมือ เพราะหลอดเลือดมีการทำงานที่ผิดปกติ หากเกิดแผลขึ้น ก็จะกลายเป็นแผลเรื้อรังหายช้า เสี่ยงต่อการเกิดแผลติดเชื้อ โดยสัญญาณที่บ่งบอกว่าเกิดแผลเบาหวานคือ น้ำหนองไหลออกมากผิดปกติ แผลบวมแดงผิดปกติ รู้สึกระคายเคือง เจ็บ แผลมีกลิ่นเหม็น หากการไหลเวียนของเลือดไปที่แผลไม่ดี อาจเกิดภาวะเนื้อตาย ซึ่งผิวหนังจะกลายเป็นสีดำรอบๆแผล โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดที่นิ้วเท้า ก็จะทำให้มีการติดเชื้อตามมา ส่งผลให้มีหนองที่มีกลิ่นเหม็นไหลออกมา
แผลเบาหวาน สาเหตุ
เป็นอาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่เกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและระบบประสาท ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดแผลเบาหวานขึ้น หากผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ก็จะทำให้ระบบประสาทและหลอดเลือดทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีภาวะเส้นประสาทเสื่อม ทำให้เกิดอาการชาหรือสูญเสียความรู้สึกบริเวณเท้า หากมีอาการไร้ความรู้สึกบริเวณเท้าแล้ว อาจทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวหากเกิดบาดแผลที่เท้า ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นที่หลอดเลือด ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปที่หลอดเลือดส่วนปลายได้ไม่ดี จึงเกิดการขาดเลือดเฉพาะที่ แผลจะมีเลือดมาหล่อเลี้ยงได้ไม่เพียงพอ จึงทำให้กลายเป็นแผลเรื้อรังได้
อันตรายจากแผลเบาหวาน
- ปลายประสาทเสื่อม ทำให้มีอาการชา ไม่รู้สึกเจ็บ อาจทำให้ไม่รู้ว่าเป็นแผล จึงทำให้แผลมีโอกาสลุกลามได้
- กลายเป็นแผลเรื้อรัง รักษายาก เพราะแผลเบาหวานจะทำให้หลอดเลือดแดงตีบ ส่งผลทำให้เลือดนำสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายได้ไม่ดีพอ เมื่อแผลขาดเลือดมาหล่อเลี้ยง ก็จะทำให้แผลหายช้า หรือกลายเป็นแผลเรื้อรัง
- เท้าผิดรูป และผิวแห้งหนาผิดปกติ เกิดหนังหนาเป็นก้อนนูนกดเนื้อเยื่อข้างใต้ หากเท้าผิดรูปเกิดแรงกดเฉพาะที่ ก็จะส่งผลให้เนื้อเยื่อตาย และรักษาได้ยาก
- เสี่ยงการสูญเสียนิ้วเท้าและเท้า หากเป็นแผลเรื้อรังและมีการติดเชื้ออย่างรุนแรง เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงแผลได้ ก็จะทำให้เกิดเนื้อตายและอาจนำไปสู่การสูญเสียนิ้วเท้าและเท้าได้
การป้องกันไม่ให้เกิดแผลเบาหวาน
ผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ควบคุมระดับของไขมันในเลือด ควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินไป ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ งดการสูบบุหรี่ และป้องกันไม่มีให้มีแผลเกิดขึ้น โดยเฉพาะบริเวณเท้า ซึ่งทำได้โดยการล้างเท้าให้สะอาด ซักถุงเท้าที่ใส่บ่อยๆ ดูแลเท้าให้มีความชุ่มชื้น ตัดเล็บเท้าสม่ำเสมอ สวมรองเท้าที่ใส่สบาย เข้ารับการตรวจเท้าอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
การดูแลบริเวณเท้าอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่ควรทำในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และต้องดูแลร่างกายโดยการทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสมด้วย